นับเป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยระดับพื้นฐานของรถรุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบัน ซึ่งแม้ว่าเราจะพอเดาออกว่าถุงลมนิรภัยมีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่หลายคนก็ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำงานของถุงลมนิรภัย
จึงยกตัวอย่าง 5 ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับถุงลมนิรภัยมาฝากกัน
1.ถุงลมจะทำงานทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ
หลายคนเข้าใจว่าถุงลมนิรภัยจะพองตัวออกทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าลักษณะการชนจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ในความเป็นจริงนั้น ถุงลมนิรภัยอาจไม่กางออกในกรณีต่อไปนี้
-อุบัติเหตุชนบริเวณฝากระโปรงหน้า หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของตัวรถ ที่ไม่ทำให้เกิดแรง G มากพอเพื่อกระตุ้นการทำงานของถุงลม
-ถูกชนกลางตัวถังและรถคว่ำ กรณีนี้ถุงลมนิรภัยคู่หน้าอาจไม่กางออก แต่รถที่มีถุงลมนิรภัยด้านข้างหรือม่านถุงลมนิรภัยมักทำงาน
-อุบัติเหตุชนสัตว์เล็ก, ป้ายบอกทาง, ป้ายจราจร หรือขอบถนน เป็นต้น
2.คิดว่าถุงลมนิรภัยคือลูกบอลนุ่มๆ
- เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าเมื่อถุงลมนิรภัยพองตัวออก จะมีลักษณะเป็นลูกบอลนุ่มนิ่มขนาดใหญ่ที่ช่วยไม่ให้ร่างกายไปกระแทกกับชิ้นส่วนภายในรถ ซึ่งความจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น
-เนื่องจากถุงลมนิรภัยจะพองตัวออกด้วยการจุดระเบิดของตัวกำเนิดก๊าซ (Gas generator) เพื่อสร้างแรงดันไนโตรเจนอย่างรวดเร็วให้ถุงลมพองตัวด้วยความเร็วสูงถึง 300 กม./ชม. นั่นทำให้ถุงลมนิรภัยใช้เวลากางตัวออกเต็มที่ด้วยเวลาเพียง 0.025 - 0.06 วินาทีเท่านั้น หากคิดไม่ออกว่าเร็วขนาดไหนให้ลองเทียบว่าปกติมนุษย์ใช้เวลากระพริบตา 0.4 วินาที ช้ากว่ากันอยู่ราว 10 เท่าเลยทีเดียว
- ถุงลมนิรภัยถูกออกแบบให้ทำงานภายในเวลา 0.015 - 0.02 วินาทีหลังเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งผู้ผลิตคำนวณเป็นอย่างดีแล้วว่า เป็นจังหวะที่ร่างกายปะทะเข้ากับถุงลมนิรภัยพอดี เพื่อป้องกันไม่ให้กระแทกชิ้นส่วนในตัวรถ จากนั้นถุงลมนิรภัยก็จะแฟบลงและหมดประโยชน์อีกต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในระยะเวลารวมกันไม่ถึง 1 วินาทีด้วยซ้ำไป ดังนั้น หากใครคิดว่าถุงลมนิรภัยจะพองตัวกลายเป็นลูกบอลนิ่มๆ คุณคิดผิดถนัด!
-อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเริ่มมีการพัฒนาถุงลมนิรภัยให้พองตัวอยู่อย่างนั้นโดยไม่แฟบลง แต่เทคโนโลยีดังกล่าวยังใหม่มาก และถูกใช้สำหรับม่านถุงลมนิรภัยเท่านั้น
3.ถุงลมนิรภัยต้องกางทุกลูกพร้อมกัน
-หากใครติดตามข่าวอุบัติเหตุอยู่บ่อยๆ คงพบว่าการชนบางกรณีจะมีเฉพาะม่านถุงลมเท่านั้นที่ทำงาน บางกรณีทำงานเฉพาะคู่หน้า บางกรณีทำงานเฉพาะฝั่งที่ถูกปะทะเท่านั้น หลายคนเลยตั้งคำถามว่าแล้วทำไมจึงไม่ให้มันระเบิดพร้อมกันทุกลูกไปเลยล่ะ จะได้ปลอดภัยมากขึ้น.. มันมีเหตุผลครับ
- เหตุผลอันดับแรกสืบเนื่องมาจากข้อ 2 ที่บอกว่า ผู้ผลิตตั้งใจให้ถุงลมพองตัวในจังหวะเดียวกับที่ร่างกายปะทะพอดี เนื่องจากถุงลมจะพองตัวอย่างรวดเร็วและแฟบไปแทบจะในทันที จึงสำคัญมากที่ถุงลมจะต้องพองตัวออกเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
- เหตุผลต่อมา คือ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นด้วยความเร็วสูง อาจไม่ได้ชนตูมครั้งเดียวแล้วจบในทันที ยังมีอีกหลายกรณีที่รถกระแทกเข้ากับวัตถุหนึ่ง แล้วกระเด็นไปกระแทกกับอีกวัตถุหนึ่ง หากถุงลมระเบิดพร้อมกันทุกลูก นั่นเท่้ากับว่าหากเกิดการกระแทกครั้งที่สอง ก็จะไม่มีถุงลมคอยซับแรงกระแทกส่วนอื่นอีกต่อไป
4.ปลอดภัยสำหรับเด็กเล็กเช่นเดียวกับผู้ใหญ่
-ถุงลมนิรภัยพองออกด้วยความเร็วสูงถึง 300 กม./ชม. ดังนั้น การติดตั้งเบาะนั่งเด็ก (Child seat) บนเบาะนั่งโดยสารด้านหน้าจึงเป็นสิ่งต้องห้าม ไม่ว่าจะหันหน้าเข้าหรือออกก็ตาม เนื่องจากความรุนแรงของแอร์แบ็กจะทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บได้
-ในกรณีที่จำเป็นต้องติดตั้งเบาะนั่งเด็กไว้ด้านหน้า ควรปรับระยะห่างระหว่างเบาะนั่งและคอนโซลหน้าให้มากที่สุด เพื่อให้เด็กได้รับแรงปะทะน้อยที่สุด
5.รถมีถุงลมนิรภัยไม่ต้องคาดเข็มขัดก็ได้
หลายคนเข้าใจว่ารถที่มีถุงลมนิรภัย ไม่จำเป็นต้องคาดเข็มขัดนิรภัยก็ได้ เพราะทั้งคู่สามารถเพิ่มความปลอดภัยได้พอกัน ซึ่งผิดถนัดครับ! เพราะถุงลมนิรภัยถูกออกแบบให้เป็นตัวเสริมความปลอดภัยจากเข็มขัดนิรภัยอีกทีหนึ่ง (AIRBAG จึงมีคำว่า SRS นำหน้า ซึ่งย่อมาจาก Supplemental Restraint System) ในกรณีที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัยจะไม่กางออก เพื่อไม่ให้บุคคลได้รับการบาดเจ็บจากถุงลมนิรภัย (แต่จะได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุแทน)